วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความหมายของกฎหมาย



ความหมายของกฎหมาย

ปัจจุบัน แนวความคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาตินั้นไม่เคยมีอิทธิพลสูงสุดอย่างเด็ดขาดเหนือ ความคิดเรื่องกฎหมายฝ่ายบ้านเมอง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติจะไร้ประโยชน์เพราะเท่าที่ผ่านมา แนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติได้มีอิทธิพลมากในสหรัฐอเมริกา ดังจะเห็นได้จากคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1776 ซึ่งกล่าวถึงสิทธิโดยธรรมชาติ ในอันที่ จะแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติได้นำเรื่องสิทธิธรรมชาติไปเป็นหลักในการประกาศใช้ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ.1948 ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าบรรดาผู้จัดทำกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง ก็ได้พยายามจะนำคุณธรรมและคุณค่าทางจริยธรรมเข้ามาผสมผสานในกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นการผ่อนคลายความคิดในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองลง อันเป็นการสร้างประสิทธิภาพที่ดีให้แก่กฎหมายต่าง ๆ ที่นำมาประกาศใช้บังคับแก่ประชาชน

นอกจากนักปรัชญาทางกฎหมายของสองสำนักความคิดดังกล่าวที่ได้พยายามให้คำนิยามคำว่า กฎหมาย ก็ยังมีผู้ได้พยายามค้นหาคำตอบว่ากฎหมายคืออะไรอีกหลายท่าน อาทิเช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ซึ่งได้รับสมญาว่า พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ทรงอธิบายไว้ว่า กฎหมาย นั้นคือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วตามธรรมดาต้องโทษ นักกฎหมายคนอื่น ๆ ก็ได้อธิบายไว้ทำนองเดียวกัน คือ

ศาสตราจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ อธิบายว่า กฎหมายได้แก่ กฎข้อบังคับว่าด้วย การปฏิบัติ ซึ่งผู้มีอำนาจของประเทศได้บัญญัติขึ้น และบังคับให้ผู้ที่อยู่ในสังกัดของประเทศนั้นถือปฏิบัติตาม

ศาสตราจารย์เอกูต์ อธิบายว่า กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อห้ามซึ่งมนุษย์ต้องเคารพใน ความประพฤติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันมาจากรัฆฐาธิปัตย์หรือหมู่มนุษย์ มีลักษณะทั่วไปใช้บังคับได้เสมอไปและจำต้องปฏบัติตาม

อย่างไรก็ดี ทุกนิยามความหมายข้างต้น ก็จะทำได้แต่เพียงการอธิบายความหมายที่ใกล้เคียงที่สุด ว่ากฎหมายคืออะไรเท่านั้น แต่ยังไม่เคยปรากฏเลยว่า มีผู้ใดสามารถให้คำตอบที่สมบูรณ์ถูกต้องที่สุดในข้อนี้ได้ ทั้งนี้เพราะแม้แต่ตัวกฎหมายเอง ก็เป็นอนิจจังอย่างหนึ่ง ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามภาวการณ์และกาลสมัยของสังคม

สำหรับในที่นี้ ขออธิบายว่า กฎหมายนั้นมีความหมายหลายประการสุดแท้แต่จะถือเอาข้อใดเป็นสาระสำคัญ ถ้าถือเอาหน้าที่ของกฎหมายเป็นสาระสำคัญแล้ว กฎหมายย่อมหมายถึง กฎแห่งความประพฤติของมนุษย์ในสังคมซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติของมนุษย์และเป็นบรรทัดฐานความประพฤติ สำหรับมนุษย์รุ่นต่อ ๆ ไปในอันที่จะต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าถือเอาแหล่งหรือผู้ทำให้มีกฎหมายตามความเป็นจริงในสังคมเป็นหลักแล้ว กฎหมาย ย่อมหมายถึง คำสั่งของผู้เป็นใหญ่ในสังคมซึ่งมีอำนาจในการออกคำสั่งนั้นและ การละเมิดคำสั่งย่อมได้รับผลร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ อย่างไรก็ตามในการอธิบาย ณ ที่นี้ ขออธิบายตามลักษณะของกฎหมายโดยทั่วไป ซึ่งแบ่งออกได้ 4 ประการ คือ

(1) กฎหมายมีลักษณะเป็นคำสั่งคำบังคับมิใช่คำขอร้องวิงวอน หรือแถลงการณ์

(2) กฎหมายเป็นคำสั่งคำบังคับที่กำหนดขึ้นโดยผู้มีอำนาจในสังคม ซึ่งเรียกว่ารัฏฐาธิปัตย์

(3) กฎหมายเป็นคำสั่งคำบังคับที่ใช้บังคับ หรือให้เป็นที่ทราบแก่คนทั่วไป

(4) กฎหมายต้องมีสภาพบังคับแก่ผู้ฝ่าฝืน

รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จะได้อธิบายต่อไปในตอนที่ 1.2

กฎหมายกับศีลธรรม

ศีลธรรม คือ ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ว่าการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำที่ชอบการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดข้อบังคับอันเป็นการควบคุมความประพฤติของมนุษย์เช่นเดียวกับศีลธรรมก็ตาม กฎหมายกับศีลธรรมก็ยังมีข้อแตกต่างกัน บางประการ กล่าวคือ

1. กฎหมายเป็นข้อบังคับที่กำหนดพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์ ซึ่งหากเขาคิดร้ายอยู่ในใจกฎหมายก็ยังไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ศีลธรรมเป็นเรื่องความรู้สึกภายในใจของมนุษย์ ฉะนั้นแม้คิดไม่ชอบในใจก็ย่อมผิดศีลธรรมแล้ว

2. ศีลธรรมมีความมุ่งหมายสูงกว่ากฎหมาย เพราะศีลธรรมมุ่งหมายให้มนุษย์พร้อมบริบูรณ์ไปด้วยความดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่กฎหมายมุ่งหมายเพียงดำรงไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งเป็นผลจากทางการเท่านั้น

3. กฎหมายนั้น การฝ่าฝืนจะต้องได้รับผลร้ายโดยรัฐเป็นผู้กำหนดสภาพบังคับแต่ การฝ่าฝืนศีลธรรมย่อมมีผลสภาพบังคับเป็นลักษณะการกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ฝ่าฝืน ซึ่งจะมีมากหรือน้อยนั้นแล้วแต่ความรู้สึกผิดชอบในแต่ละบุคคล

ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรมนี้มีข้อที่น่าสังเกต กล่าวคือ บางกรณีศีลธรรมเรียกร้องให้มนุษย์ปฏิบัติมากกว่ากฎหมาย เช่น การเป็นนางบำเรอลักลอบได้เสียกับชายที่มีภรรยาแล้วไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ถือว่าเป็นการผิดต่อศีลธรรมในสังคมไทย แต่ก็มีกรณีอื่นเช่นกันที่กฎหมายไปไกลกว่าศีลธรรม เช่น การไม่จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อมีอายุถึงกำหนด ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายแต่ไม่ผิดศีลธรรม เป็นต้น

กฎหมายกับจารีตประเพณี

จารีตประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนของความประพฤติที่มนุษย์ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยมุ่งถึงสิ่งที่เป็นการกระทำภายนอกของมนุษย์เท่านั้น ซึ่งจารีตประเพณีนี้อาจจะเป็นการเฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาชีพใดอาชีพหนึ่ง เช่น ประเพณีการค้า หรือเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ซึ่งสังคมหนึ่งอาจมีจารีตประเพณีที่แตกต่างจากจารีตประเพณีของอีกสังคมหนึ่งก็ได้

ด้วยเหตุที่จารีตประเพณีมุ่งคำนึงถึงพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์อันกำหนดขอบเขตและยึดถือต่อ ๆ กันมา ซึ่งเหมือนกับกฎหมายในส่วนที่มุ่งควบคุมพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็มีข้อแตกต่างในสาระสำคัญบางประการ กล่าวคือ

1. กฎหมายนั้นรัฐจะเป็นผู้มีอำนาจบัญญัติขึ้นใช้บังคับ แต่จารีตประเพณีนั้นประชาชนอาจจะเป็นชนชั้นใดชั้นหนึ่งเป็นผู้กำหนดขึ้นก็ได้

2. การกระทำที่ผิดกฎหมายย่อมรับผลร้าย คือ การลงโทษตามกฎหมาย แต่ถ้ากระทำผิดจารีตประเพณีผลร้ายที่ได้รับคือ การถูกติเตียนจากสังคม

อย่างไรก็ตาม จารีตประเพณีก็เป็นกฎหมายได้ในบางสังคม เช่น ในกลุ่มประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) ต่างถือเอาจารีตประเพณีเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายบ้านเมือง แม้ในประเทศไทยเองก็ยอมรับจารีตประเพณีบางเรื่อง ในบางโอกาส โดยถือว่าอาจใช้เป็นกฎหมายได้ในลำดับรองลงมาจากกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น